วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ดาวเทียมธีออส สำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย

ดาวเทียมธีออส สำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย
ดาวเทียมธีออส (THEOS : Thailand Earth Observation Satellite)
เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย
มีมูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท
เป็นโครงการก่อสร้างแบบการค้าต่างตอบแทนพืชผลการเกษตรของไทยกับประเทศฝรั่งเศส
ได้มีกำหนดปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในราวเดือน ต.ค.50
โดย ได้เลือกสถานที่ปล่อยดาวเทียมแล้ว ณ เมืองไบโคนัวร์ ประเทศคาซัคสถาน

ดาวเทียมดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานขั้นต่ำสุด 5 ปี
เช่นเดียวกับดาวเทียมในลักษณะเดียวกันดวงอื่นๆ
แต่ก็เชื่อว่าจะยืดอายุการใช้งานให้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้นได้
ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลังการใช้งาน 5 ปีเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก

จะใช้ประโยชน์จากดาวเทียมธีอออสในด้านการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
อาทิ ป่าไม้ น้ำ พื้นที่การเกษตร และการประมง
ซึ่งจะต้องร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยจัดทำระบบและซอฟต์แวร์การใช้งานขึ้น
โดยเชื่อว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะสามารถนำไปปรับใช้
กับการบริหารงานภาพถ่ายดาวเทียมดวงอื่นๆ ของโลกได้ด้วย
รวมไปถึงการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออสไปประกอบกับภาพถ่ายภาคพื้นดิน
เพื่อใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ทั้งนี้ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ.ยังบอกด้วยว่า
หลังจากปล่อยดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจรแล้ว
จะใช้เวลาตรวจดูความเรียบร้อยต่างๆ ประมาณ 3 เดือน
จึงจะเริ่มปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรือภายในสิ้นปี 50 นี้
โดยบริษัทคู่สัญญาของไทยคือ อีเอดีเอส แอสเตรียม (EADS Astrium)
ในชื่อใหม่คือ แอสเตรียม เอส.เอ.เอส. (Astrium S.A.S.)
จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปล่อยยานทั้งหมด 600 ล้านบาท
โดยใช้จรวด “เน็ปเปอร์” (DNEPR) ของประเทศยูเครน เป็นจรวดนำส่ง

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2550 และ http://techno.obec.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น